หน้าแรก
คำอธิบายรายวิชา
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
สารบันบทเรียน
แบบทดสอบ
กระดานถามตอบ
ผู้จัดทำ
  เรื่อง :   การผสมเทียม
   
 

            การผสมเทียม (artificial insemination) การทำให้เกิดปฏิสนธิ โดยไม่ต้องมี      การร่วมเพศตามธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เนื่องจากมนุษย์เป็นผู้ฉีดตัวอสุจิของสัตว์เพศผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์เพศเมีย ซึ่งมีขั้นตอนการตั้งแต่เริ่มต้น คือ การรีดน้ำเชื้อมาตรวจคุณภาพของน้ำเชื้อ ละลายน้ำเชื้อ เก็บรักษาน้ำเชื้อ และสุดท้ายฉีดน้ำเชื้อให้กับเพศเมียในช่วงที่เพศเมียแสดงอาการสัด ขั้นตอนเหล่านี้คือ การผสมเทียมในสัตว์

ภาพที่ 17 ขั้นตอนการผสมเทียมของโค
ที่มา: หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ ม.2 หน้า 78
 

ขั้นตอนการผสมเทียม มีดังนี้
1. การรีดเก็บน้ำเชื้อ     ทำโดยใช้เครื่องมือช่วยกระตุ้นให้เพศผู้หลั่งน้ำเชื้อออกมา การรีดเก็บน้ำเชื้อต้องพิจารณา อายุ ความสมบูรณ์ของเพศผู้ ประกอบกับระยะเวลาที่เหมาะสม และวิธีการเก็บน้ำเชื้อขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ เมื่อได้รับน้ำเชื้อมาแล้วต้องนำมาตรวจคุณสมบัติ ได้แก่ ความหนาแน่นรูปร่าง และการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ
2. การเก็บรักษาน้ำเชื้อ น้ำเชื้อที่รีดมาแล้วสามารถเก็บรักษาได้โดยเติมสารบางชนิดลงในน้ำเชื้อเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ เช่น โซเดียมซิเตรต ไข่แดง สารปฏิชีวนะ เมื่อผสมกันแล้วก็บรรจุหลอดหรือขวดเล็ก ๆ ใส่ไว้ในกล่องมีน้ำแข็ง เพื่อรักษาไว้ที่อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส
3. การฉีดน้ำเชื้อ เพศเมียที่จะได้รับการฉีดน้ำเชื้อจะต้องอยู่ในวัยที่จะผสมพันธุ์ได้ มีความสมบูรณ์ อยู่ในเวลาที่เหมาะต่อการผสม คือ ในระยะที่ไข่สุก ในระยะนี้       เพศเมียจะแสดงอาการสัด ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เพศเมียมีน้ำเมือกไหลออกจาก  อวัยวะสืบพันธุ์ ร้องผิดปกติ เบื่ออาหารและยอมให้เพศผู้เข้าใกล้ชิด  การฉีดน้ำเชื้อโดยสวมหลอดบรรจุน้ำเชื้อกับหลอดแก้วยาว สอดหลอดแก้วนี้เข้าไปทางช่องคลอด จนถึงปากมดลูกแล้วฉีดน้ำเชื้อเข้าไปแต่ถ้าเป็นในสุกรใช้สายยางแทนหลอดแก้ว


ภาพที่ 18 การฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในมดลูกของโค

ที่มา: หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ ม.2 หน้า 79   

 

ประโยชน์ของการผสมเทียม มีหลายประการ ดังนี้
1. ได้พันธุ์ดีตามความต้องการ ซึ่งเป็นการปรับปรุงพันธุ์
2. ประหยัดน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ เพราะสามารถใช้น้ำยาละลายน้ำเชื้อเพื่อเพิ่มปริมาณได้
3. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงพ่อพันธุ์ หรือการสั่งซื้อพ่อพันธุ์จากต่างประเทศ และการขนส่งพ่อพันธุ์ไปผสมพันธุ์เป็นระยะทางไกล ๆ
4. เป็นการแก้ปัญหาการติดลูกยากและตกลูกผิดฤดูกาลได้
การผสมเทียมในประเทศไทย  เริ่มทำการผสมเทียมโดยกรมปศุสัตว์ ใน พ.ศ. 2499 ได้สั่งซื้อพ่อพันธุ์จากต่างประเทศมารีดเก็บน้ำเชื้อ แล้วส่งไปให้สถานีผสมเทียมทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสถานีให้บริการผสมเทียมโค กระบือ สุกร ทั่วประเทศไทยจำนวน 465 หน่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำของแต่ละหน่วยจะออกไปให้บริการต่อเกษตรกรในท้องถิ่นที่สถานีผสมเทียมนั้น ๆ ตั้งอยู่สถานีผสมเทียมแห่งแรกของไทยตั้งขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากปศุสัตว์จำพวกโค กระบือ และสุกรแล้ว ยังสามารถใช้วิธีผสมเทียมกับปลาต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายนอกได้อีกด้วย เช่น การผสมเทียมปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลานิล ปลายี่สก ปลาดุก ปลาบึก จะเห็นได้ว่าสามารถทำได้ทั้งในปลาที่มีขนาดเล็กอย่างปลาดุก จนถึงปลาที่มีขนาดใหญ่ คือ ปลาบึกได้

ขั้นตอนการผสมเทียมปลา มีดังนี้
1. คัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ คัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลาพันธุ์เดียวกันที่สมบูรณ์ และอยู่ใน วัยเจริญพันธุ์ จะมีน้ำเชื้ออสุจิและไข่จำนวนมาก
2. ฉีดฮอร์โมนให้แม่ปลาเพื่อกระตุ้นให้ไข่สุก นำฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอ ของปลาพันธุ์เดียวกัน เป็นเพศใดก็ได้ มาบดให้ละเอียด ผสมน้ำแล้วฉีดเข้าเส้นข้างลำตัวของแม่ปลา
3. รีดไข่และน้ำเชื้ออสุจิ หลังจากนั้นฉีดฮอร์โมนให้ปลา             5 – 12 ชั่วโมง รีดน้ำเชื้ออสุจิ จากพ่อปลาและไข่ จากแม่ปลาลงในภาชนะใบเดียวกัน
4. คนให้ตัวอสุจิกับไข่ผสมกันโดยทั่วถึง เติมน้ำลงในภาชนะพอท่วมไข่ใช้ขนไก่คนเบา ๆ ให้ตัวอสุจิเข้าผสมกับไข่ ปล่อยทิ้งไว้ 1 – 2 นาที ถ่ายน้ำทิ้ง 1 – 2 ครั้ง
5. นำไข่ที่ผสมแล้วไปพักในที่ที่มีน้ำไหล นำไข่ที่ผสมแล้วไปพักในที่ที่เตรียมไว้ ต้องเป็นที่ ที่มีน้ำไหลตลอดเวลา เพื่อป้องกันการทับถมของไข่ปลาปล่อยทิ้งไว้จนไข่ฟักออกเป็นลูกปลา
การผสมเทียมปลาเป็นการขยายพันธุ์และเพิ่มผลผลิตให้ได้ปลาจำนวนมาก

ภาพที่ 19 ขั้นตอนการผสมเทียมปลา
ที่มา: หนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ ม.2 หน้า 80

 

Copyright © 2021-2025, All Rights Reserved. สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537